แคร์ (CARE)
องค์กรที่เกิดจากกลุ่มผู้ปกครองของเด็กที่เป็นออทิสติก หรือมีภาวะออทิซึม (ASD) โดยมีความเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคน สามารถพัฒนาทักษะให้เติบโตไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาทางด้านการรับรู้ เช่น การได้ยิน การมองเห็น การทรงตัว ฯลฯ ทำให้การเรียนรู้ของเขา "ไม่เหมือน" กับเด็กทั่วไป แต่เขาก็สามารถที่จะเรียนรู้หากได้รับการฝึกสอนอบรมอย่างถูกวิธีการ
กระบวนการรับรู้ที่ไม่เหมือนนี้ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ "ขาดทักษะ" ในแบบที่จะสามารถพัฒนาขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ และแบบที่จะได้รับจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรปรกติ การพัฒนาทักษะต่างๆ จึงต้องใช้แนวทางการสอนที่มีคุณลักษณะจำเพาะ อันแตกต่างกับการเรียนการสอนในเด็กอื่น ๆ ทั่วไป ได้แก่
- การเรียนการสอนแบบตัวต่อตัว
- การมีคุณครูประกบหากเป็นการเรียนในห้องเรียนร่วม
- การมีจำนวนชั่วโมงเรียนที่เพียงพอ โดยโครงสร้างของบทเรียนต้องเป็นไปอย่างมีระบบ และมีเป้าหมายชัดเจน
- การได้รับการสอนโดยผู้ชำนาญการที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ
- ทักษะต่าง ๆ หรือ บทเรียนต่างๆ ต้องมีการออกแบบมาอย่างจำเพาะเจาะจงสำหรับเด็กแต่ละคน และมีการอธิบายขั้นตอนอย่างละเอียด แต่มีรูปแบบที่เรียบง่ายและมองเห็นเป็นรูปธรรม ผ่านการนำเสนออย่างค่อยเป็นค่อยไป
- บทเรียนแต่ละบท จะมีกระบวนการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของเด็ก ว่ามีความเข้าใจในบทเรียนที่ได้รับการสอนและสามารถนำไปใช้ได้จริงในทุกสถานการณ์
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ คือการนำหลักการของ Applied Behavior Analysis หรือ ABA มาประยุกต์ได้อย่างเหมาะสม
แคร์ วางแผนการสอนรูปแบบหลักฐานเชิงประจักที่เป็นเฉพาะบุคคล โดยอิงหลักสูตรพัฒนาทักษะที่ชื่อว่า Skills® ของ Skills Global ซึ่งพัฒนาหลักสูตรโดย CARD อันเป็นองค์กรระดับต้นๆ ในการพัฒนาเด็กที่เป็นออทิสติก หรือมีภาวะออทิซึมด้วยเทคนิค ABA จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทเรียนกว่า 4000 บทเรียน ที่ครอบคลุมทักษะในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านภาษา ทักษะเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองและความคิด ทักษะการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆและกลไกการเคลื่อนไหว ทักษะทางสังคม ทักษะด้านความเข้าใจและการรับรู้ ทักษะเกี่ยวกับด้านวิชาการ ทักษะการเล่น และทักษะการปรับตัว โดยมีการวางแผนและออกแบบบทเรียนให้เหมาะสมกับเด็ก ”แต่ละคน” โดยมีเป้าหมายหลักคือหวังให้เด็กๆกลุ่มนี้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดที่เขาจะไปได้
นอกจากนั้นเรายังมีเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้กับสังคมไทยในประเด็นต่างๆไม่ว่าจะเป็น
- การมองเห็นว่าเด็กๆเหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอและสามารถพัฒนาให้สามารถใช้ทักษะต่างๆที่เป็นประโยชน์ได้
- การสร้างหลักสูตรที่มีคุณภาพในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้นั้นมีอยู่จริง เพียงแต่ต้องมีรูปแบบและโครงสร้างที่ชัดเจน และออกแบบโดยอ้างอิงจากศักยภาพที่มีอยู่ของเขาเหล่านั้น
- เด็กๆ "ต้อง" ได้รับการฝึกและเรียนรู้ภายใต้แผนการสอนที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับเขา ไม่ใช่แผนการสอนแบบทั่วไป
- และสุดท้ายเรายังมุ่งหวังที่จะสร้างผู้ชำนาญการด้านเด็กพิเศษให้กับสังคมไทย ที่ได้รับการฝึกอบรมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจนมีความรอบรู้ในสายงาน